About admin



เลี้ยงจระเข้ขุนเป็นอาชีพ มีเทคนิคที่ดีอย่างไร ?

เลี้ยงจระเข้ขุนเป็นอาชีพ มีเทคนิคที่ดีอย่างไร ?
ความสำเร็จของผู้ที่เริ่มต้นจระเข้นั้นอยู่ที่ จะเลี้ยงจระเข้ขุนอย่างไรให้จระเข้มีอัตราการเจริญเติบโตได้ดี อัตราการแลกเนื้อต่ำ และได้เกรดหนังที่มีคุณภาพดี ซึ่งการที่จะได้มาซึ่งผลผลิตที่ได้มาตรฐานเหล่านี้ จะต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญคือ ลักษณะหรือรูปแบบของบ่อเลี้ยงการคัดเลือกพันธุ์หรือสายพันธุ์ อาหารและน้ำ ซึ่งล้วนแล้วมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตแทบทั้งสิ้น ดังนั้นแล้ว ทันทีที่เกษตรกรตัดสินใจที่จะเลี้ยงจระเข้ขุนเป็นอาชีพแล้วจึงควรที่จะคำนึงถึงปัจจัยต่างๆเหล่านี้ด้วย

บ่อเลี้ยงจระเข้ขุน
มีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าสามารถเลี้ยงจระเข้ในบ่อแบบใดก็ได้ แต่ในความจริงแล้วบ่อที่เหมาะสมในการเลี้ยงจระเข้ขุนที่ดีที่สุด จะต้องเป็นบ่อซีเมนต์ที่มีพื้นบ่อขัดมันเรียบเท่านั้น ซึ่งรูปแบบของบ่อโดยทั่วไปจะมี 2 ลักษณะ คือบ่อเลี้ยงรวมและบ่อเลี้ยงเดี่ยว บ่อเลี้ยงรวมจะมีขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 4 เมตร สูง 1.20 เมตร โดยจะมีพื้นที่บกอยู่ตรงกลางพื้นที่น้ำล้อม น้ำลึก 30 เซนติเมตร

บ่อเลี้ยงรวมสามารถเลี้ยงจระเข้ขนาด 30 – 35 เซนติเมตร จนกระทั่งจระเข้มีความยาว 1 เมตร สามารถเลี้ยงจระเข้ได้ 20 – 25 ตัว ต่อบ่อ ความสูงของพื้นที่บกควรมีความลาดเอียง ใช้ผ้ากรองแสงปิด 50 % ของพื้นที่บ่อ สำหรับลักษณะของบ่อเลี้ยงเดี่ยว มีขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 1.50 เมตร สูง 1.20 เมตร ใช้ผ้ากรองปิดแสง 50% ของพื้นที่บ่อเลี้ยงจระเข้ได้บ่อละ 1 ตัว และควรมีตะแกรงปิดฝาบ่อด้วย โดยพื้นที่บกต่อน้ำ 1 ต่อ 1 ความลึกของน้ำ 30 เซนติเมตร สามารถเลี้ยงจระเข้ที่มีขนาดความยาว 70 – 80 เซนติเมตร และขนาดความยาว 1 เมตร จนกระทั่งมีความยาว 1.8 เมตร ความสูงของพื้นที่บกควรมีความลาดเอียงเล็กน้อย

การคัดเลือกสายพันธุ์จระเข้
การคัดเลือกสายพันธุ์ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผู้เลี้ยงจระเข้ควรจะคำนึงถึง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เป็นประเทศที่มีภูมิอากาศที่ร้อนชื้นเพราะอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ซึ่งเหมาะที่จะเลี้ยงจระเข้เป็นอย่างมาก ดังนั้นประเทศไทยจึงได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆแล้ว ในขณะเดียวกันพันธุ์จระเข้ในเมืองไทยมีทั้งพันธุ์น้ำจืดและพันธุ์น้ำเค็ม จัดได้ว่าเป็นพันธุ์จระเข้ที่มีหนังอยู่ในระดับคลาสสิค ซึ่งจะเป็นลักษณะของหนังที่มีคุณภาพและความสวยงาม หนังฟอกง่ายถึงแม้ว่าจะมีอายุมากก้ตามแต่ก้ยังสามารถฟอกได้ ซึ่งการที่จะได้ผลผลิตจากจระเข้ในระดับที่มีคุณภาพต้องมีการวางแผนการจัดการคิดเลือกพันธุ์ให้ได้มาซึ่งสายพันธุ์ที่ดีจากแหล่งที่เชื่อถือได้ด้วยเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกด้วย

อาหารจระเข้
อาหารเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของจระเข้ แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรมักประสบปัญหาในเรื่องการเลี้ยงจระเข้แล้วไม่ได้ผลอย่างที่วางเอาไว้ หรือได้จระเข้ที่ด้อยคุณภาพนั้น เป็นเพราะเกษตรกรผู้เลี้ยงมักจะคิดว่าจระเข้เป็นสัตว์ที่กินอะไรก็ได้ เป็นสัตว์ที่สามารถกินไก่ได้ทั้งตัวโดยไม่ต้องถอนขนออกหรือการให้อาหารเน่าเสียก็ไม่เป็นไร สิ่งเหล่านี้ล้วนเป้นความเข้าใจผิดของเกษตรกร โดยเฉพาะอาหารที่เส้นใย เช่น ขนไก่ ยาง ถุงพลาสติก จะเป็นสิ่งที่ทำให้กระเพาะอาหารของจระเข้ไม่สามารถย่อยอาหารได้เต็มที่ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้จระเข้ตายในที่สุด
เกษตรกรจึงควรระมัดระวังในการเลี้ยงจระเข้ด้วยการวางแผนและการจัดการอาหารที่มีความสด สะอาด และปราศจากสารพิษใดๆทั้งสิ้น

สำหรับอัตราการให้อาหารจระเข้ที่เป็นมาตรฐานนั้น ควรให้อาหารจระเข้อายุ 1 – 3 เดือนเป็นลูกปลาหรือลูกกบที่มีชีวิต 100% เพื่อให้ลูกจระเข้มีโอกาสได้ออกกำลังกายและบริหารกล้ามเนื้อ ในขณะที่จระเข้ที่มีอายุ 4 – 6 เดือนจะให้ลูกปลาและลูกกบเป็นๆลดลงเหลือเพียง 30 % จากที่เคยให้ ส่วนอีก 70% นั้นให้เปลี่ยนเป็นเนื้อไก่ เนื้อหมู(ไม่ติดไขมัน) ผสมวิตามิน หลังจากนั้นหากเลี้ยงจนจระเข้มีอายุ 7-12 เดือนแล้ว ควรเปลี่ยนมาให้เนื้อไก่ เนื้อหมูผสมวิตามินเป็น 100% เลย

สำหรับจระเข้ที่มีอายุ 13 – 36 เดือน จะให้อาหารเป็นโครงไก่ผสมวิตามินประมาณ 30% เป็นปลาน้ำเค็ม เช่นปลาข้างเหลืองประมาณ 10% ส่วนอีก 60% จะเป็นไก่ตัวติดกระดูก(ดึงไขมันออกพร้อมเครื่องในออก) และที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าจระเข้ในช่วงขุนที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปี อาหารเสริมที่ดี คือ ตับ ควรให้เดือนละ 2 ครั้ง

น้ำที่เลี้ยงจระเข้
แหล่งน้ำนับว่ามีความสำคัญไม่น้อยต่อการเจริญเติบโตของจระเข้ เนื่องจากใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในน้ำ ดังนั้นน้ำที่ใช้เลี้ยงจระเข้ควรจะเป็นน้ำสะอาด เพราะจะมีผลต่อคุณภาพของหนังจระเข้โดยตรง โดยเฉพาะการนำน้ำดิบที่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น อ่างเก็บน้ำ หนองน้ำ คลอง ห้วย บึง ฯลฯ ซึ่งจะพบว่ามีเชื้อแบคทีเรีย และโปรตัวซัว มีหลายชนิดปะปนกันอยู่ ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้จะมีผลต่อหนังจระเข้ให้เสื่อมและด้อยคุณภาพลงไป
เพื่อความปลอดภัย ควรมีบ่อน้ำพักก่อนที่จะนำน้ำไปใช้ หรือสร้างบ่อพัก น้ำไว้กลาง แจ้ง เพื่อให้ถู กแสงแดด จะช่วยในการลดเชื้อโรคที่อยู่ในน้ำได้ ซึ่งควรมีการพักน้ำไว้อย่างน้อย 2-3 วัน ดังนั้นสำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงจระเข้จึงควรตระหนักถึงปัจจัยเหล่านี้ด้วย เพราะการเลี้ยงจระเข้นั้นเป็นอาชีพที่ไม่ยุ่งยากและซับซ้อน

เนื่องจากจระเข้เป็นสัตว์ที่ไม่ต้องดูแลมากเมื่อเทียบกับสัตว์เศรษฐกิจชนิดอื่นๆ แต่การเลี้ยงจระเข้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนักสำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจธรรมชาติ และรู้จักการดำรงชีวิตของจระเข้อย่างเพียงพอ ดังนั้น การที่เกษตรกรจะสามารถประสบความสำเร็จในการเลี้ยงจระเข้ขุนให้ได้ราคาตามมาตรฐานที่วางเอาไว้นั้น จึงจำเป็นต้องรู้หลักและมีเทคนิคในการเลี้ยงประกอบด้วย จะช่วยให้การเลี้ยงจระเข้นั้นประสบความสำเร็จด้วยดีอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว